สะลวงโมเดล ปี 64 (สามารถฟาร์มเมอร์)

Smart Green Agriculture Mixed Module System

        คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้วิเคราะห์ในบริบททางด้าน “การเกษตร” โดยได้แสดงความคิดเห็นสังคมไทยมีความสัมพันธ์กับเกษตรกรรมกันมาอย่างยาวนาน เพราะเกษตรกรรมเป็นแหล่งของอาหารบำรุงทั้งกายและจิตใจรวมทั้งที่ไม่เป็นอาหารแต่มีความจำเป็น เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และพลังงาน เป็นต้น การดำรงชีวิตของคนไทยมีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และจนถึงอนาคตจนมีคำติดปากว่า “สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม” นอกจากนี้เกษตรกรรมยังเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ เป็นแหล่งสร้างอาชีพ แรงงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นภาคที่สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และความสุขมวลรวมภายในประเทศให้กับคนในประเทศอีกด้วย
        อย่างไรก็ตามการเกษตรในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น มีการแข่งขันที่สูงมากและให้ผลตอบแทนต่ำ เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างของแรงงาน รวมถึงต้นทุนอื่นที่เกษตรกรต้องแบกรับ อีกทั้งไม่สามารถที่จะคาดเดาฤดูกาลหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรมีกำไรเป็นอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิต ซึ่งทางเกษตรกรจำเป็นต้องหาวิธีที่จะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคซึ่ง หนึ่งในหลายวิธีคือ การนำเอาเทคโนโลยี Smart Farm เข้ามาใช้  ซึ่งการรวมเอาเทคโนโลยี Smart Farm เข้ากับการเกษตรนั้นจะสามารถลดระยะเวลาในการปลูก ดูแลรักษาพืชผล การเลี้ยงสัตว์ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ได้การเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงนั้นเป็นผลผลิตที่ปลอดสารพิษอย่างแท้จริง
        เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตด้วยตนเองได้โดยการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ซึ่งใช้ความรู้พื้นฐานในการทำการเกษตรน้อยเนื่องจากเครื่องสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ในด้านของเกษตรกรนั้นยังช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสในการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นเนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการปลูก ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิตลดลงเนื่องจากเครื่องสามารถทำงานได้ตลอดเวลาไม่มีวันหยุดซึ่งแตกต่างจากแรงงานคนที่ต้องการเวลาพักผ่อน อีกทั้งยังเป็นผลดีกับผู้ที่มีอาชีพอื่นสามารถทำอาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพเสริมได้ ทำให้มีโอกาสทางรายได้มากขึ้น
        จากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรกรรมแบบ การเกษตรเชิงเดี่ยว (Mono-agriculture) โดยพืชที่ปลูกหรือสัตว์ที่เลี้ยงมักเป็นพืชหรือสัตว์ที่เกษตรกรทำการผลิตที่มีราคาผลผลิตสูงในช่วงหนึ่งส่งผลทำให้เกษตรกรทำการเกษตรตามๆ กัน ซึ่งเป็นผลทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำในอีกช่วงเวลาเก็บเกี่ยว รายได้ของเกษตรกรจึงไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวการวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและสร้างระบบเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบเกษตรผสมผสาน โดยมีการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และเลี้ยงหนอนแมลงวันลายภายในโรงเรือนเดียวที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานเพื่อความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกร
ระบบ Smart Green Agriculture Mixed Module System ดาวน์โหลดไฟล์
รายละเอียดไฟล์แนบ ขนาดไฟล์ ดาวน์โหลด
3.21 MB ดาวน์โหลด